เรามักจะได้ยินกันมาว่า การมีเลือดออกกะปริบกะปรอย หรือการที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นผลข้างเคียงซึ่งอาจพบได้หลังใช้ยาคุมฉุกเฉิน แต่ถ้าไม่พบปัญหาดังกล่าวเลยล่ะ โดยเฉพาะหากไม่มีเลือดออกมาภายใน 7 วันหลังรับประทาน จะเป็นสัญญาณที่บอกว่ายาคุมฉุกเฉินอาจไม่ได้ผล หรืออาจมีการตั้งครรภ์หรือเปล่านะ
…
ผู้ใช้ยาคุมฉุกเฉิน อาจมีเลือดออกผิดปกติระหว่างรอบประจำเดือน ในลักษณะของเลือดกะปริบกะปรอย เกิดขึ้นภายใน 7 วันหลังรับประทานค่ะ
แม้จะถือว่าเป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยมาก (Very common) นั่นคือ มากกว่า 1 ใน 10 แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน หรือทุกครั้ง ที่ใช้ยาคุมฉุกเฉินนะคะ
…
โดยพบว่ามี 14.7%1 หรือ 16%2 ของผู้ใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาเลโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) ที่มีเลือดออกกะปริบกะปรอยภายใน 7 วันหลังรับประทาน
และพบได้ไม่แตกต่างกันระหว่างการใช้แบบแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง ครั้งละ 0.75 มิลลิกรัม หรือการใช้แบบรับประทานให้ครบขนาด 1.5 มิลลิกรัมในครั้งเดียว
…
จะเห็นได้ว่า เลือดที่ออกผิดปกติระหว่างรอบประจำเดือน โดยมักพบในลักษณะของเลือดกะปริบกะปรอย อาจเกิดขึ้นภายใน 7 วันหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินค่ะ จึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติอะไร
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนผู้ใช้ยาคุมฉุกเฉิน 10 ราย ก็มีไม่ถึง 2 รายที่พบว่ามีเลือดออกหลังรับประทาน ในขณะที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่กลับไม่พบผลข้างเคียงนี้เลย ดังนั้น จึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติเช่นกันนะคะ หากว่าจะไม่มีผลข้างเคียงนี้เกิดขึ้น
และไม่ว่าจะพบหรือไม่พบผลข้างเคียงนี้ รวมถึงผลข้างเคียงอื่น ๆ หลังรับประทาน ก็ไม่ได้เป็นสัญญาณว่าการป้องกันจะได้ผลหรือจะล้มเหลวค่ะ
…
แล้วประจำเดือนล่ะ ควรจะมาเมื่อไหร่?!?
ทั้ง 2 การศึกษาที่นำมาอ้างอิง ชี้ว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่จะมีประจำเดือนมาตรงตามรอบปกติเดิม หรือคลาดเคลื่อนเพียงไม่กี่วันค่ะ
…
โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาเลโวนอร์เจสเทรล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่แบ่งรับประทาน 2 ครั้ง ครั้งละ 0.75 มิลลิกรัม หรือกลุ่มที่รับประทานครั้งเดียวในขนาด 1.5 มิลลิกรัม หากไม่มีการตั้งครรภ์ ก็จะมีประจำเดือนมาภายใน 2 วัน นับจากวันที่คาดไว้ว่าจะมีประจำเดือนตามรอบปกติ1,2
และมีเพียง 5% ของผู้ใช้ทั้ง 2 กลุ่ม ที่ประจำเดือนมาช้ากว่าวันที่คาดไว้เกิน 7 วัน2
…
นอกจากนี้ แม้ว่าการรับประทานยาคุมฉุกเฉินอาจทำให้ประจำเดือนของผู้ใช้บางรายมาคลาดเคลื่อนจากวันที่คาดไว้ไปบ้าง แต่ก็แทบจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อประจำเดือนในรอบถัดไปเลย1
…
ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีประจำเดือนมาตรงเวลาอยู่เดิมแล้ว แม้ว่าการรับประทานยาคุมฉุกเฉินอาจทำให้ประจำเดือนคลาดเคลื่อนได้บ้าง แต่ก็น่าจะมาก่อนหรือหลังจากวันที่คาดไว้เพียงไม่กี่วัน
จึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติหรือน่ากังวล ในกรณีที่ไม่มีประจำเดือนมาภายใน 7 วันหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน หากยังไม่ถึงเวลาที่คาดว่าประจำเดือนจะมาอยู่แล้ว
…
และเนื่องจากมีเพียงส่วนน้อยของผู้ใช้ ที่ประจำเดือนจะมาช้าเกินกำหนดไปมาก จึงมีข้อแนะนำให้ตรวจการตั้งครรภ์ หากไม่มีประจำเดือนมาภายใน 7 วัน นับจากวันที่คาดไว้ว่าจะมีประจำเดือนมาตามรอบปกติ3
…
คำแนะนำที่ว่า “ควรจะมีประจำเดือนมาภายใน 7 วันหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน” เป็นเพียงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนะคะ
เพราะคำแนะนำที่ถูกต้องก็คือ “ควรจะมีประจำเดือนมาภายใน 7 วัน นับจากวันที่คาดไว้ว่าจะมีประจำเดือนมาตามรอบปกติ โดยจะมาก่อนหรือหลังวันที่คาดไว้ก็ได้ และถ้าเกินกำหนดไป 7 วันแล้วแต่ไม่มีประจำเดือนมา ก็ควรตรวจการตั้งครรภ์ให้ชัดเจน”
…
ส่วนผู้ที่มีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติหรือไม่ตรงเวลาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะรับประทานยาคุมฉุกเฉินหรือไม่ ประจำเดือนก็อาจมาไม่ปกติหรือไม่ตรงเวลาได้เหมือนเดิมค่ะ
ซึ่งหากพบปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติอยู่เรื่อย ๆ หรือไม่มีประจำเดือนมาติดต่อกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปทั้งที่ไม่มีการตั้งครรภ์ ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริง และพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมนะคะ
…
เอกสารอ้างอิง
- Gainer E, Kenfack B, Mboudou E, Doh AS, Bouyer J. Menstrual bleeding patterns following levonorgestrel emergency contraception. Contraception. 2006 Aug;74(2):118-24. doi: 10.1016/j.contraception.2006.02.009. Epub 2006 Apr 27. PMID: 16860049; PMCID: PMC1934349.
- Von Hertzen H, Piaggio G, Ding J, Chen J, Song S, Bártfai G, Ng E, Gemzell-Danielsson K, Oyunbileg A, Wu S, Cheng W, Lüdicke F, Pretnar-Darovec A, Kirkman R, Mittal S, Khomassuridze A, Apter D, Peregoudov A; WHO Research Group on Post-ovulatory Methods of Fertility Regulation. Low dose mifepristone and two regimens of levonorgestrel for emergency contraception: a WHO multicentre randomised trial. Lancet. 2002 Dec 7;360(9348):1803-10. doi: 10.1016/S0140-6736(02)11767-3. PMID: 12480356.
- Faculty for Sexual and Reproductive Health (FSRH) guideline: Emergency contraception. March 2017 (Amended December 2020).