อยากเปลี่ยนยาคุม ต้องทำอย่างไร (ตอนที่ 1)

อยากเปลี่ยนยาคุม ต้องทำอย่างไร ตอนที่ 1

                มีหลายเหตุผลที่ทำให้ผู้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบรายเดือน ตัดสินใจเปลี่ยนยี่ห้อยาคุมที่ใช้อยู่ ยกตัวอย่างเช่น ทนผลข้างเคียงไม่ไหว, ยี่ห้อใหม่มีคุณสมบัติอื่นที่ต้องการ, หาซื้อยี่ห้อเดิมไม่ได้ หรือเพื่อลดรายจ่ายให้เหมาะสม

                หากรับประทานยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมอยู่ แต่อยากเปลี่ยนยี่ห้อยาคุม ควรทำอย่างไรดีนะ?!?

                ส่วนผู้ที่รับประทานยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวอยู่ แต่อยากเปลี่ยนยี่ห้อยาคุม แนะนำให้อ่านบทความ “อยากเปลี่ยนยาคุม ต้องทำอย่างไร (ตอนที่ 2)” นะคะ

1. เปลี่ยนจากยาเม็ดฮอร์โมนรวมยี่ห้อหนึ่ง ไปเป็นยาเม็ดฮอร์โมนรวมยี่ห้ออื่น

                ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม หมายถึงยาคุมที่มีทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสติน ในปัจจุบัน มียาเม็ดฮอร์โมนรวมออกจำหน่ายหลายยี่ห้อ ทั้งแบบ 21 เม็ดและ 28 เม็ด

                วิธีที่ง่ายที่สุดในการเปลี่ยนจากยาเม็ดฮอร์โมนรวมยี่ห้อหนึ่ง ไปเป็นยาเม็ดฮอร์โมนรวมยี่ห้ออื่น ก็คือ เริ่มใช้ยี่ห้อใหม่ตรงกับวันที่ครบกำหนดต่อยาคุมของยี่ห้อเดิม1

                ซึ่งเหมือนกับการต่อแผงใหม่ของยาคุมยี่ห้อเดียวกันนั่นเองค่ะ

                โดยยาคุมแบบ 21 เม็ด เมื่อใช้หมดแผงแล้วจะต้องเว้นว่าง 7 วันก่อนต่อแผงใหม่ ส่วนยาคุมแบบ 28 เม็ด เมื่อใช้หมดแผงแล้วก็ให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมาได้เลย

                ยกตัวอย่างเช่น หากยี่ห้อเดิม เป็นยาคุม 21 เม็ด เมื่อใช้หมดแผงก็จะเว้นว่าง 7 วันเพื่อเป็นช่วงปลอดฮอร์โมนให้ประจำเดือนมา แล้วเริ่มรับประทานยาคุมยี่ห้อใหม่ในวันที่ 8 ของการเว้นว่าง

ตัวอย่างที่ 1: การเปลี่ยนยาเม็ดฮอร์โมนรวมแบบ 21 เม็ดไปเป็นแบบ 28 เม็ด ตามกำหนดต่อยาคุมเดิม

การเปลี่ยนยาเม็ดฮอร์โมนรวมแบบ 21 เม็ดไปเป็นแบบ 28 เม็ด ตามกำหนดต่อยาคุมเดิม

ตัวอย่างที่ 2: การเปลี่ยนยาเม็ดฮอร์โมนรวมแบบ 21 เม็ดไปเป็นแบบ 21 เม็ด ตามกำหนดต่อยาคุมเดิม

การเปลี่ยนยาเม็ดฮอร์โมนรวมแบบ 21 เม็ดไปเป็นแบบ 21 เม็ด ตามกำหนดต่อยาคุมเดิม

                หรือถ้ายี่ห้อเดิม เป็นยาคุมแบบ 28 เม็ด ช่วงปลอดฮอร์โมนให้ประจำเดือนมา ก็คือช่วงที่เป็นเม็ดยาหลอก ดังนั้น เมื่อใช้หมดแผงแล้ว ก็เริ่มรับประทานยาคุมยี่ห้อใหม่ในวันถัดมา

ตัวอย่างที่ 3: การเปลี่ยนยาเม็ดฮอร์โมนรวมแบบ 28 เม็ดไปเป็นแบบ 28 เม็ด ตามกำหนดต่อยาคุมเดิม

การเปลี่ยนยาเม็ดฮอร์โมนรวมแบบ 28 เม็ดไปเป็นแบบ 28 เม็ด ตามกำหนดต่อยาคุมเดิม

ตัวอย่างที่ 4: การเปลี่ยนยาเม็ดฮอร์โมนรวมแบบ 28 เม็ดไปเป็นแบบ 21 เม็ด ตามกำหนดต่อยาคุมเดิม

การเปลี่ยนยาเม็ดฮอร์โมนรวมแบบ 28 เม็ดไปเป็นแบบ 21 เม็ด ตามกำหนดต่อยาคุมเดิม

                หรือจะเปลี่ยนจากยาเม็ดฮอร์โมนรวมยี่ห้อหนึ่ง ไปใช้ยาเม็ดฮอร์โมนรวมยี่ห้ออื่น โดยไม่รอให้ยาคุมเดิมหมดแผงก็ได้นะคะ

                เช่น ถ้าใช้ยาคุมเดิมได้ 10 เม็ดแล้ว เมื่อถึงเวลาที่จะต้องรับประทานเม็ดที่ 11 ก็ให้เปลี่ยนเป็นยาคุมใหม่ได้เลย และใช้ยาคุมใหม่ติดต่อกันทุกวันจนหมดแผง

                อย่างไรก็ตาม เนื่องจากช่วงปลอดฮอร์โมนถูกเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิม จึงจะยังไม่มีประจำเดือนมา จนกว่าจะถึงช่วงปลอดฮอร์โมนของยาคุมยี่ห้อใหม่นะคะ

                ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนยาคุมกลางแผง หรือรอเปลี่ยนตามกำหนดต่อยาคุมแผงใหม่ ก็ถือว่ามีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องนะคะ จึงไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ เพิ่มเติม

            อย่างไรก็ตาม บางหน่วยงาน/สถาบันอาจกำหนดแนวทางในลักษณะที่เน้นให้ปลอดภัยไว้ก่อน โดยแนะนำว่าควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย ไปจนกว่าจะใช้ยาเม็ดฮอร์โมนรวมยี่ห้อใหม่ติดต่อกันครบ 7 วันก่อนค่ะ

2. เปลี่ยนจากยาเม็ดฮอร์โมนรวม ไปเป็นยาเม็ดฮอร์โมนเดี่ยว

                ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม จะมีทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสติน อยู่ในเม็ดยาฮอร์โมน แบ่งตามรูปแบบการใช้ ได้เป็น

  • ยาคุมแบบ 21 เม็ด ซึ่งทั้ง 21 เม็ดในแผงก็คือเม็ดยาฮอร์โมน
  • ยาคุมแบบ 28 เม็ด ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเม็ดยาฮอร์โมน 21 เม็ด และเม็ดยาหลอกอีก 7 เม็ด แต่สำหรับบางยี่ห้อ ได้แก่ ยาส, ซินโฟเนีย, มินิดอซ และไมนอซ จะมีเม็ดยาฮอร์โมน 24 เม็ด และเม็ดยาหลอกอีก 4 เม็ด

                ส่วนยาคุมรายเดือนชนิดฮอร์โมนเดี่ยว เป็นยาคุมแบบ 28 เม็ด ที่มีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสตินเท่านั้น ในปัจจุบัน มีจำหน่ายในประเทศไทย 4 ยี่ห้อ ได้แก่

  • เอ็กซ์ลูตอน, เดลิต้อน และซีราเซท ซึ่งทั้ง 28 เม็ดในแผงก็คือเม็ดยาฮอร์โมน
  • สลินดา ซึ่งในแผงจะมีเม็ดยาฮอร์โมน 24 เม็ด และเม็ดยาหลอกอีก 4 เม็ด

                การเปลี่ยนจากยาเม็ดฮอร์โมนรวม ไปเป็นยาเม็ดฮอร์โมนเดี่ยว แนะนำให้ใช้เม็ดยาฮอร์โมนต่อเนื่องกัน ไม่ต้องมีช่วงปลอดฮอร์โมนโดยการเว้นว่างหรือรับประทานเม็ดยาหลอก2

                ซึ่งจะเปลี่ยนขณะที่ใช้เม็ดยาฮอร์โมนเม็ดใดเม็ดหนึ่งในแผงเดิมอยู่ หรือจะรอเปลี่ยนเมื่อใช้เม็ดยาฮอร์โมนในแผงเดิมหมดก่อนก็ได้นะคะ               

                นั่นคือ ถ้ายาเม็ดฮอร์โมนรวมที่ใช้อยู่เป็นแบบ 21 เม็ด และรับประทานไป 10 เม็ดแล้ว เมื่อถึงเวลาที่จะต้องใช้เม็ดที่ 11 ก็รับประทานยาเม็ดฮอร์โมนเดี่ยวแทนได้เลย

                หรือใช้ยาเม็ดฮอร์โมนรวมจนครบ 21 เม็ด แล้วต่อด้วยยาเม็ดฮอร์โมนเดี่ยวในวันถัดมา โดยไม่ต้องเว้นว่าง 7 วันก่อน

                และเมื่อใช้ยาเม็ดฮอร์โมนเดี่ยวจนหมดแผง ก็ให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา

การเปลี่ยนยาเม็ดฮอร์โมนรวมแบบ 21 เม็ด ไปเป็นยาเม็ดฮอร์โมนเดี่ยว

                แต่ถ้ายาเม็ดฮอร์โมนรวมที่ใช้อยู่เป็นแบบ 28 เม็ด ในแผงจะมีทั้งเม็ดยาฮอร์โมนและเม็ดยาหลอก

                หลังจากที่รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนเม็ดใดเม็ดหนึ่งไปแล้ว เมื่อถึงเวลารับประทานเม็ดยาฮอร์โมนเม็ดถัดไป ก็เปลี่ยนไปใช้ยาเม็ดฮอร์โมนเดี่ยวได้เลย

                หรือรอจนกว่าจะรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนในแผงเดิมหมด (ซึ่งอาจมี 21 เม็ด หรือ 24 เม็ด ขึ้นกับยี่ห้อที่ใช้) แล้วต่อด้วยยาเม็ดฮอร์โมนเดี่ยวในวันถัดมา โดยไม่ต้องรับประทานเม็ดยาหลอกในแผงเดิม

                และเมื่อใช้ยาเม็ดฮอร์โมนเดี่ยวจนหมดแผง ก็ให้ต่อแผงใหม่ในวันถัดมา

การเปลี่ยนยาเม็ดฮอร์โมนรวมแบบ 28 เม็ด ไปเป็นยาเม็ดฮอร์โมนเดี่ยว

                เนื่องจากไม่มีช่วงปลอดฮอร์โมนระหว่างแผง จึงอาจทำให้ไม่มีประจำเดือนมานะคะ

                ซึ่งหากยาเม็ดฮอร์โมนเดี่ยวที่ใช้คือสลินดา ประจำเดือนก็จะมาในช่วงที่รับประทานเม็ดยาหลอก ซึ่งถือเป็นช่วงปลอดฮอร์โมนของแผง

                แต่ถ้ายาเม็ดฮอร์โมนเดี่ยวที่ใช้คือเอ็กซ์ลูตอน, เดลิต้อน หรือซีราเซท อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ โดยมาในช่วงใดของแผงก็ได้ หรืออาจไม่มีประจำเดือนมาเลย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงเด่นของยาคุมชนิดนี้นั่นเองค่ะ

                ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนยาคุมกลางแผง หรือรอเปลี่ยนหลังจากที่ใช้เม็ดยาฮอร์โมนในแผงเดิมหมด ก็ถือว่ามีผลคุมกำเนิดต่อเนื่อง จึงไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ เพิ่มเติม

            อย่างไรก็ตาม บางหน่วยงาน/สถาบันอาจกำหนดแนวทางในลักษณะที่เน้นให้ปลอดภัยไว้ก่อน โดยแนะนำว่าควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย ไปจนกว่าจะใช้เอ็กซ์ลูตอน, เดลิต้อน หรือซีราเซท ติดต่อกันครบ 2 วัน (นับจากเวลาเริ่มใช้ไปอีก 48 ชั่วโมง) หรือ 7 วันในกรณีที่ใช้สลินดา

เอกสารอ้างอิง

  1. Guidance for Industry: Labeling for combined oral contraceptives. Draft guidance. U.S. Department of Health and Human Services Food and Drug Administration Center for Drug Evaluation and Research (CDER); December 2017.
  2. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. Geneva: World Health Organization; 2016.