ต้องการกลับมาฉีดยาคุมแต่ประจำเดือนไม่มา

ต้องการกลับมาฉีดยาคุมแต่ประจำเดือนไม่มา

                หากเคยฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนมาก่อน แล้วไม่ได้ไปฉีดต่อตามนัด หลังผ่านไประยะหนึ่งแล้ว ถ้าต้องการกลับมาฉีดยาคุมอีก แต่ประจำเดือนยังไม่มา จะฉีดต่อเลยได้ไหม หรือควรทำอย่างไรดี

                ยาฉีดคุมกำเนิดมีอยู่หลายชนิดค่ะ สำหรับยาคุมที่นัดฉีดทุก 3 เดือน หรือ Depot Medroxyprogesterone acetate (DMPA) จะเป็นยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสติน จึงสามารถใช้กับผู้ที่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือทนผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ได้

                เนื่องจากมีผลคุมกำเนิดได้นานถึง 3 เดือน จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ไม่สะดวกจะรับประทานยาคุมวันละครั้ง โดยเฉพาะในกรณีที่ใช้ยาคุมรายเดือนชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งเคร่งครัดมากกับการรับประทานให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ

                แต่เพื่อให้มีผลป้องกันอย่างต่อเนื่อง ก็ควรฉีดยาคุมให้ตรงตามนัดนะคะ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ฉีดยาคุมซ้ำทุก 3 เดือน1 นั่นคือ 90 วัน2 หรือประมาณ 13 สัปดาห์3 นับจากวันที่ฉีดยาคุมเข็มล่าสุด

                หากไม่สะดวกที่จะฉีดในวันดังกล่าว สามารถฉีดก่อนวันนัดได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์ หรือฉีดช้ากว่าวันนัดได้ไม่เกิน 4 สัปดาห์ค่ะ1,3

                ส่วนแนวทางของศูนย์ควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา4 (CDC) จะแนะนำให้ให้ฉีดยาคุมเข็มต่อไป ห่างจากวันที่ฉีดเข็มล่าสุด 13 สัปดาห์

                โดยสามารถฉีดก่อนนัดได้หากมีความจำเป็น (แต่ไม่ได้ระบุช่วงเวลาเอาไว้) หรือฉีดช้ากว่าวันนัดได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์นะคะ

                หรือถ้าอ้างอิงตามแนวทางของคณะอนามัยเจริญพันธ์และสุขภาวะทางเพศ สหราชอาณาจักร5 (FSRH) จะแนะนำให้ให้ฉีดยาคุมเข็มต่อไป ห่างจากวันที่ฉีดเข็มล่าสุด 13 สัปดาห์

                และหากจำเป็นก็สามารถฉีดก่อนนัดได้ โดยห่างจากเข็มล่าสุดอย่างน้อย 10 สัปดาห์ แต่จะฉีดยาคุมช้ากว่าวันนัดได้ไม่เกิน 7 วัน นั่นคือ ฉีดได้ช้าสุดไม่เกิน 14 สัปดาห์นับจากวันที่ฉีดยาคุมเข็มล่าสุด

                จาก 3 แนวทางข้างต้นจะเห็นได้ว่า แม้จะกำหนดวันนัดฉีดยาเข็มต่อไปไว้ที่ 13 สัปดาห์เหมือนกัน แต่ก็อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้างในกรณีที่ฉีดเร็วหรือช้ากว่าวันนัด

                อย่างไรก็ตาม ในคู่มือการให้บริการวางแผนครอบครัวสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข6 ที่จัดพิมพ์โดยสำนักอนามัยการเจริญพันธ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จะแนะนำตรงกับแนวทางขององค์การอนามัยโลก นั่นคือ

                ให้นัดฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนทุก 13 สัปดาห์ โดยมาฉีดช้ากว่าวันนัดได้ไม่เกิน 4 สัปดาห์ หรือจะฉีดก่อนวันนัด 2 สัปดาห์ก็ได้

                ดังนั้น ถ้าไม่ได้ไปฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนตามนัด แต่ยังไม่เกิน 4 สัปดาห์นับจากวันที่นัดไว้ ก็สามารถฉีดยาคุมต่อได้เลย ไม่จำเป็นจะต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อน และเมื่อฉีดแล้วก็ถือว่ามีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องทันที สามารถมีเพศสัมพันธ์หลั่งในได้ตามปกติ

                อย่างไรก็ตาม หากเป็นไปได้ ควรไปฉีดยาคุมตรงตามนัดสม่ำเสมอ เพราะแม้ว่าการฉีดยาคุมช้าจะยังให้ผลป้องกันได้ถ้าไม่เกินกรอบเวลายืดหยุ่น แต่ประสิทธิภาพก็อาจลดลงเมื่อเทียบกับผู้ที่ฉีดยาคุมตรงตามนัดค่ะ

                แต่ถ้าไม่ได้ไปฉีดยาคุมแบบ 3 เดือนตามนัดเกินกว่า 4 สัปดาห์ ก็ถือว่าไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องแล้วนะคะ

                และเนื่องจากปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติหรือไม่มีประจำเดือน เป็นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากยาคุมชนิดนี้ ซึ่งอาจคงอยู่อีกหลายเดือนแม้จะหยุดฉีดไปแล้วก็ตาม การรอให้ประจำเดือนมาก่อนค่อยฉีดยาคุมต่อ อาจทำให้เสียโอกาสที่จะได้ฉีดยาคุมไปอีกนานโดยไม่จำเป็น

                ดังนั้น จึงต้องมีการพิจารณาว่ามีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์หรือไม่ ถ้าไม่มี ก็สามารถฉีดยาคุมได้เลย แต่จะต้องงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย ไปอีก 7 วัน

                แต่ถ้ามีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ ควรพิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้ยาคุมฉุกเฉินเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวหรือไม่ และหากจะไม่รอให้ประจำเดือนมาก่อนก็อาจต้องตรวจการตั้งครรภ์ให้มั่นใจ แล้วจึงค่อยเริ่มฉีดยาคุมอีกครั้ง และเมื่อฉีดยาคุมแล้วก็จะต้องงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ไปอีก 7 วันเช่นกันค่ะ

เอกสารอ้างอิง

  1. Selected Practice Recommendations forContraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
  2. Injectable Contraceptives: What Health Workers need to know. World Health Organization, 1997.
  3. Family planning: A Global Handbook for Providers, Updated 3rd edition. World Health Organization, 2018.
  4. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
  5. FSRH CEU Guidance: Recommended Actions after Incorrect Use of Combined Hormonal Contraception. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, 2020.
  6. คู่มือการวางแผนครอบครัวสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข. สำนักอนามัยการเจริญพันธ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, 2563.