สลินดา (Slinda) เป็นยาคุมรายเดือนตัวใหม่ล่าสุดที่แนะนำให้ใช้ในสตรีที่ให้นมบุตร หรือผู้ที่ทนผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ได้ โดยช่วยให้ควบคุมรอบเดือนได้ดีกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวตัวอื่น ๆ และมีความยืดหยุ่นสำหรับการลืมรับประทานได้นานถึง 24 ชั่วโมง นำเข้าโดยบริษัทเอ็กเซลทิส ประเทศไทย จำกัด (Exeltis Thailand Co.,Ltd.) ราคาประมาณ 290 – 330 บาท
…
ในแผงยาคุมสลินดาจะมีเม็ดยาเคลือบฟิล์ม (Film-coated tablet) รวม 28 เม็ด โดยแบ่งเป็นเม็ดยาฮอร์โมนที่มีสีขาวจำนวน 24 เม็ด และเม็ดยาหลอกที่มีสีเขียวอีก 4 เม็ด
เม็ดยาฮอร์โมนแต่ละเม็ดจะมีตัวยาเหมือนกัน นั่นคือ มีฮอร์โมนโปรเจสตินชื่อว่าดรอสไพรีโนน (Drospirenone) เม็ดละ 4 มิลลิกรัม
ส่วนเม็ดยาหลอกไม่ได้มีตัวยาสำคัญใด ๆ
…
การที่มีเม็ดยาหลอกในแผง ถือเป็นช่วงปลอดฮอร์โมน ซึ่งจะควบคุมให้ประจำเดือนของผู้ใช้มาเป็นรอบปกติ
แต่ปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอย ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือไม่มีประจำเดือนมา ซึ่งเป็นผลข้างเคียงเด่นของยาคุมที่มีเฉพาะโปรเจสติน ก็อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้สลินดาได้ แต่พบน้อยกว่าและไม่รุนแรงเท่ากับยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวตัวอื่น ๆ
…
และเนื่องจากไม่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนรวม อีกทั้ง ยังไม่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องฝ้าจากยาคุม
สลินดาจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการคุมกำเนิดสำหรับผู้ที่ทนผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ได้ หรือต้องการหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจน
…
ดรอสไพรีโนนเป็นโปรเจสตินที่มีผลต้านฤทธิ์แอนโดรเจน การใช้สลินดาจึงน่าจะลดสิวและต้านการบวมน้ำได้ อย่างไรก็ตาม พบรายงานว่าผู้ใช้ 3.8% เกิดสิวหลังใช้สลินดา
อาการปวดศีรษะ ปวด/คัดตึงเต้านม ปวดท้อง และคลื่นไส้ ก็อาจพบได้บ้าง แต่ไม่รุนแรง
…
ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีจำหน่ายมาก่อน ซึ่งใช้โปรเจสตินรุ่นที่ 1 – 3 ไม่ว่าจะเป็นไลเนสทรีนอล (ยี่ห้อที่จำหน่ายในประเทศไทยคือเอ็กซ์ลูตอนและเดลิต้อน), ลีโวนอร์เจสตริล, ดีโซเจสตริล (ยี่ห้อที่จำหน่ายในประเทศไทยคือซีราเซท) ไม่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด
ส่วนโปรเจสตินรุ่นที่ 4 อย่างดรอสไพรีโนน แม้ว่าจะยังไม่พบรายงานดังกล่าวในกรณีของยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว แต่เนื่องจากการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมสูตรที่มีเอทธินิลเอสตราไดออลรวมกับดรอสไพรีโนน พบว่าเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดได้ (แม้จะถือว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดในหญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดบุตร)
แต่จนกว่าจะมีข้อสรุปที่ชัดเจน ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ก็ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนใช้สลินดา เช่นเดียวกับผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีการรับประทานยา/สมุนไพรใด ๆ อยู่
…
การใช้ดรอสไพรีโนนไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำนม, ปริมาณน้ำนม และระยะเวลาการให้นม จึงสามารถใช้สลินดาในระหว่างที่ให้นมบุตรได้
อย่างไรก็ตาม ภายใน 3 สัปดาห์แรกหลังคลอด ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด แม้ว่าจะไม่มีข้อห้ามในการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวตัวอื่น ๆ แต่ในกรณีของสลินดา ซึ่งข้อมูลยังมีจำกัด แนะนำให้หลีกเลี่ยงการเริ่มใช้ในช่วงเวลาดังกล่าว
หรือหากต้องการใช้ ก็ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับก่อนนะคะ
…
ถ้าหาซื้อสลินดาไม่ได้ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยว อาจพิจารณาการใช้เอ็กซ์ลูตอน (Exluton), เดลิต้อน (Dailyton) หรือซีราเซท (Cerazette) ซึ่งแม้จะใช้โปรเจสตินที่ต่างไป แต่ก็เป็นยาคุมที่ไร้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเหมือนกันค่ะ
…
การเริ่มใช้สลินดาหลังการแท้งบุตรหรือคลอดบุตร 1. แท้งในช่วงไตรมาสแรก ควรเริ่มใช้สลินดาทันทีที่ยุติการตั้งครรภ์ หากทำได้ตามนี้จะถือว่ามีผลคุมกำเนิดได้เลย จึงไม่ต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย 2. แท้งในช่วงไตรมาสที่สอง และการคลอดบุตร 2.1 ควรเริ่มใช้สลินดาในระหว่างวันที่ 21 – 28 หลังแท้งบุตร/คลอดบุตร โดยจะถือว่ามีผลคุมกำเนิดได้ทันที จึงไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย 2.2 ถ้าเริ่มใช้สลินดาหลังจากนั้น แต่ยังไม่มีประจำเดือนมา หากมั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์อยู่ เช่น ยังไม่มีเพศสัมพันธ์อีกเลยหลังแท้งบุตร/คลอดบุตร ก็สามารถเริ่มใช้สลินดาได้โดยไม่ต้องรอให้ประจำเดือนมาก่อน แต่ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ไปอีก 7 วันหลังเริ่มยาคุม |
การเริ่มใช้สลินดาในกรณีอื่น ๆ 1. ควรรอให้ประจำเดือนมาก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์ 1.1 ถ้าเริ่มใช้สลินดาแผงแรกในวันแรกของการมีประจำเดือน จะถือว่ามีผลคุมกำเนิดได้ทันที จึงไม่จำเป็นจะต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย 1.2 ถ้าเริ่มใช้สลินดาแผงแรกในวันที่ 2 – 5 ของการมีประจำเดือน (นับวันที่ประจำเดือนมาวันแรกเป็นวันที่ 1) หากไม่มีผลป้องกันจากวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ อยู่ ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันไปอีก 7 วันหลังเริ่มยาคุม 2. หรือถ้ามั่นใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ จะเริ่มใช้สลินดาแผงแรกโดยไม่รอให้ประจำเดือนมาก่อนก็ได้ แต่หากไม่มีผลป้องกันจากวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ อยู่ ก็ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ไปอีก 7 วันหลังเริ่มยาคุม |
…
แม้ว่าอาการคลื่นไส้อาเจียนจะเกิดขึ้นได้น้อยและไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม แต่แนะนำให้รับประทานสลินดาในเวลาก่อนนอนตอนกลางคืน เช่นเดียวกับยาคุมรายเดือนทั่วไป เพื่อลดความเสี่ยงที่จะลืมใช้ รวมถึงลดอาการคลื่นไส้อาเจียนที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ผู้ใช้ยังไม่ชินกับยา
และแม้ว่าจะมีความยืดหยุ่นในการใช้มากกว่ายาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวตัวอื่น ๆ โดยสามารถรับประทานช้ากว่าเวลาปกติได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่ผู้ใช้ก็ควรรับประทานสลินดาให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ และลดปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยนะคะ
…
ในแผงยาคุมสลินดาทั้ง 2 ด้านจะมีการระบุลำดับการใช้ไว้ต่างกัน ซึ่งอาจเลือกใช้แบบใดแบบหนึ่ง หรือใช้ร่วมกันทั้ง 2 แบบก็ได้
สำหรับผู้ที่เคยชินกับการรับประทานตามลำดับตัวเลข ก็ให้เริ่มรับประทานจากหมายเลข 1 แล้วใช้ต่อวันละเม็ดตามลำดับไปจนถึงหมายเลข 28
ซึ่งประจำเดือนของผู้ใช้มักจะมาประมาณเม็ดที่ 27 หรือ 28 ของแผงค่ะ
เมื่อหมดแผงเดิมแล้วก็ให้เริ่มแผงใหม่ในวันถัดมาได้เลย ไม่ต้องรอให้ประจำเดือนหายดีก่อนนะคะ
…
อย่างไรก็ตาม แม้การรับประทานตามลำดับตัวเลขจะเป็นวิธีที่ง่าย แต่ก็เสี่ยงต่อการรับประทานซ้ำซ้อนเกินขนาดหรือใช้ไม่ต่อเนื่องกันทุกวัน
การรับประทานตามลำดับตัวย่อของวันในสัปดาห์ ซึ่งง่ายต่อการตรวจสอบประจำวัน จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หรือนำมาใช้ร่วมกับวิธีแรก
โดยเลือกแถบสติกเกอร์สำหรับวันที่เริ่มรับประทานยาวันแรก มาติดไว้ในส่วนที่ระบุว่า “สำหรับติดสติกเกอร์/Place sticker here”
ยกตัวอย่างเช่น หากวันที่จะเริ่มรับประทานยาคุมแผงนี้ตรงกับวันอังคาร ก็ให้เลือกสติกเกอร์ที่ขึ้นต้นด้วย “อ. Tu” (ซึ่งย่อมาจาก วันอังคาร/Tuesday) มาติดไว้ที่แผงยา
แล้วก็เริ่มรับประทานยาคุมจากจุดเริ่มต้น (Start) และใช้ต่อวันละเม็ดไปตามลำดับลูกศร โดยตรวจสอบเทียบกับตัวย่อของวันที่ระบุไว้ในแถบสติกเกอร์ ว่าตรงกับวันที่รับประทานหรือไม่
ประจำเดือนของผู้ใช้มักจะมาในวันที่รับประทานเม็ดสีเขียว 1 – 2 เม็ดสุดท้ายของแผง ซึ่งเมื่อรับประทานหมดแผงเดิมแล้ว ก็ให้เริ่มแผงใหม่ในวันถัดมาได้เลยค่ะ
…
หากลืมรับประทานเม็ดสีเขียว ซึ่งเป็นเม็ดยาหลอกของสลินดา ให้แกะเม็ดที่ลืมทิ้งไป แล้วใช้เม็ดที่เหลือตามปกติ สามารถต่อยาคุมแผงใหม่ได้ตามกำหนด โดยไม่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด
…
แต่ในกรณีที่ลืมรับประทานเม็ดสีขาว ซึ่งเป็นเม็ดยาฮอร์โมนของสลินดา หากลืมไม่เกิน 24 ชั่วโมง ให้รีบรับประทานเม็ดที่ลืมทันทีที่นึกได้
หรือถ้าถึงเวลารับประทานยาคุมในวันถัดมาพอดี ก็ให้รับประทานเม็ดที่ลืมพร้อมกับเม็ดที่ต้องใช้ประจำวัน รวมกันเป็น 2 เม็ด
จากนั้นก็ใช้ต่อวันละเม็ดเหมือนเดิม
หากลืมไม่เกิน 24 ชั่วโมง ถือว่ายังมีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องนะคะ
…
แต่ถ้าลืมเม็ดสีขาวเกิน 24 ชั่วโมง หรือลืมใช้ติดต่อกันหลายวัน ในวันที่นึกขึ้นได้ก็ให้รับประทานเม็ดที่ลืมทันทีที่นึกได้ 1 เม็ด (แม้จะลืมใช้ติดต่อกันหลายวัน ก็ให้รับประทานเม็ดที่ลืมเพียงแค่เม็ดเดียว) แล้วรอรับประทานเม็ดยาประจำวันตามเวลาปกติอีก 1 เม็ด
หรือรับประทานทั้ง 2 เม็ดนั้นพร้อมกัน ถ้านึกได้เมื่อถือว่าเวลารับประทานยาคุมประจำวันแล้ว
หลังจากนั้นก็รับประทานต่อวันละเม็ดตามปกติ
และควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย ไปจนกว่าจะได้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วันอีกครั้ง
และควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันทีที่ทำได้ ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หากลืมรับประทานยาคุมในช่วงสัปดาห์แรกของแผง และมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วโดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย
หรือต่อแผงใหม่หลังจากที่ใช้เม็ดสีขาวหมด โดยไม่ต้องรับประทานเม็ดสีเขียวในแผงเดิม หากเหลือเม็ดสีขาวให้ใช้ต่อไม่ถึง 7 วัน หรือมีประจำเดือนมาแล้ว
การลืมรับประทานเม็ดสีขาวติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะในช่วงท้าย ๆ ของแผง อาจทำให้ประจำเดือนมาก่อนกำหนด
หรือถ้าไม่มีประจำเดือนมา เมื่อต่อแผงใหม่โดยข้ามเม็ดสีเขียวก็อาจทำให้ไม่มีประจำเดือนมาในรอบนี้ค่ะ