เผลอกินยาคุมก่อนเวลา 2 – 3 ชั่วโมง จะท้องไหม แล้วต่อไปต้องกินยาคุมตามเวลาใหม่ หรือควรใช้ในเวลาเดิม
…
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ ก็ควรรับประทานยาคุมให้ถูกต้องและตรงเวลาสม่ำเสมอนะคะ
ซึ่งการรับประทานตรงเวลา จะหมายถึง เม็ดยาที่ควรใช้ในแต่ละวัน ได้รับห่างกัน 24 ชั่วโมงพอดีค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น หากรับประทานเม็ดแรกในเวลา 20.00 น. ของวันอาทิตย์ เมื่อนับต่อไปอีก 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่ควรรับประทานเม็ดที่สอง ก็จะตรงกับเวลา 20.00 น. ของวันจันทร์ และนับต่อไปอีก 24 ชั่วโมง เวลาที่ควรรับประทานเม็ดที่สาม ก็จะตรงกับ 20.00 น. ของวันอังคาร

…
แต่ถ้ารับประทานเม็ดที่สองก่อนเวลา 2 ชั่วโมง ซึ่งตรงกับเวลา 18.00 น. ของวันจันทร์ ระยะห่างระหว่างการใช้เม็ดที่ 1 และ 2 คำนวณจาก 20.00 น. ของวันอาทิตย์ ไปจนถึง 18.00 น. ของวันจันทร์ ก็จะกลายเป็น 22 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่เป็นปัญหาค่ะ เนื่องจากห่างกันน้อยกว่า 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว
สิ่งที่ควรพิจารณาต่อก็คือ ระยะห่างระหว่างเม็ดที่ 2 กับเม็ดที่ 3 จะเป็นเท่าใดนะคะ
…
เพราะถ้ากำหนดให้เวลา 20.00 น. คือเวลารับประทานยาคุมในแต่ละวัน เมื่อรับประทานเม็ดที่สามในเวลา 20.00 น. ของวันอังคาร ระยะห่างระหว่างการใช้เม็ดที่ 2 และ 3 คำนวณจาก 18.00 น. ของวันจันทร์ ไปจนถึง 20.00 น. ของวันอังคาร ก็จะกลายเป็น 26 ชั่วโมง

…
หรือถ้าลืม ทำให้รับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ไปอีก เช่น รับประทานเม็ดที่สามในเวลา 22.00 น. ของวันอังคาร ระยะห่างระหว่างการใช้เม็ดที่ 2 และ 3 คำนวณจาก 18.00 น. ของวันจันทร์ ไปจนถึง 22.00 น. ของวันอังคาร ก็จะกลายเป็น 28 ชั่วโมง

…
หากรับประทานผิดเวลา แต่ไม่ทำให้ระยะห่างระหว่างเม็ดมีมากเกินไป ก็ยังคุมกำเนิดได้ค่ะ
แต่เนื่องจากยาคุมแต่ละชนิด จะยืดหยุ่นให้รับประทานผิดเวลาได้ต่างกัน ตั้งแต่น้อยสุดคือ 3 ชั่วโมง หรืออาจนานกว่านั้นได้ แต่อย่างมากที่สุดก็ไม่ถึง 2 – 3 วัน
จึงต้องพิจารณาด้วยว่ายาคุมที่ใช้อยู่นั้น อนุโลมให้รับประทานผิดเวลาได้มากน้อยแค่ไหน และเมื่อรับประทานก่อนเวลาไปแล้วในวันนี้ แม้จะยังไม่มีปัญหา แต่ถ้านับไปจนถึงเวลาที่ใช้ในวันพรุ่งนี้ ระยะห่างระหว่างเม็ดจะมากเกินไปหรือเปล่า
…
ชนิดของยาคุม | คำแนะนำ | |
ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยว | ชนิดตัวยาไลเนสทรีนอล (Lynestrenol) ได้แก่ “เอ็กซ์ลูตอน” (Exluton), “เดลิต้อน” (Dailyton) | รับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนดได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง นั่นคือ ระยะห่างจากเม็ดหนึ่ง ไปหาอีกเม็ดหนึ่ง ต้องไม่เกิน 27 ชั่วโมง |
ชนิดตัวยาดีโซเจสตริล (Desogestrel) ได้แก่ “ซีราเซท” (Cerazette) | รับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนดได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง นั่นคือ ระยะห่างจากเม็ดหนึ่ง ไปหาอีกเม็ดหนึ่ง ต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมง | |
ชนิดตัวยาดรอสไพรีโนน (Drospirenone) ได้แก่ “สลินดา” (Slinda) | รับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนดได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง นั่นคือ ระยะห่างจากเม็ดฮอร์โมนหนึ่ง ไปหาเม็ดฮอร์โมนอีกเม็ด ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง | |
ยาคุมฮอร์โมนรวม | ชนิดที่มีฮอร์โมนระดับเดียว ซึ่งก็คือยาคุมส่วนใหญ่ที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน | รับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนดได้ไม่ถึง 48 ชั่วโมง นั่นคือ ระยะห่างจากเม็ดฮอร์โมนหนึ่ง ไปหาเม็ดฮอร์โมนอีกเม็ด ต้องน้อยกว่า 72 ชั่วโมง ***หากอ้างอิงตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก อาจแนะนำให้รับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนดได้ไม่ถึง 48 ชั่วโมง หรือไม่ถึง 72 ชั่วโมง ขึ้นกับปริมาณฮอร์โมนที่มี*** |
ชนิดที่มีฮอร์โมนหลายระดับ ได้แก่ “ออยเลซ” (Oilezz), “ไคลรา” (Qlaira) | รับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนดได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง นั่นคือ ระยะห่างจากเม็ดฮอร์โมนหนึ่ง ไปหาเม็ดฮอร์โมนอีกเม็ด ต้องไม่เกิน 36 ชั่วโมง |
…
จากตัวอย่างเดียวกันข้างต้น การรับประทานเม็ดที่ 2 ก่อนเวลา 2 ชั่วโมง ทำให้เม็ดที่ 1 และ 2 ห่างกันน้อยกว่าปกติ แบบนี้ไม่มีปัญหานะคะ
ส่วนเม็ดที่ 3 ถ้ารับประทานตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ จะทำให้เม็ดที่ 2 และ 3 ห่างกัน 26 ชั่วโมง ก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน
แต่ถ้าลืมเม็ดที่ 3 ทำให้รับประทานช้ากว่าเวลาที่กำหนดไว้ไป 2 ชั่วโมง ก็จะทำให้เม็ดที่ 2 และ 3 ห่างกัน 28 ชั่วโมง สำหรับผู้ใช้ยาคุมฮอร์โมนเดี่ยว ชนิดตัวยาไลเนสทรีนอล เช่น “เอ็กซ์ลูตอน” และ “เดลิต้อน” ถือว่าไม่มีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องแล้ว จึงควรแก้ไขตามแนวทางปฏิบัติกรณีลืมรับประทานยาคุม
แต่สำหรับผู้ที่ใช้ยาคุมชนิดอื่น ๆ ซึ่งอนุโลมให้ระยะห่างระหว่างเม็ดเป็น 28 ชั่วโมงได้ ก็ไม่มีปัญหาค่ะ
…
ในทางทฤษฎี การรับประทานตรงเวลา จะหมายถึงการเว้นระยะห่างระหว่างเม็ดให้เท่ากับ 24 ชั่วโมง แต่ในทางปฏิบัติ การกำหนดเวลารับประทานยาคุมไปเลย เช่น จะรับประทานในเวลา 20.00 น. ของแต่ละวัน น่าจะสะดวก และทำได้ง่ายกว่าการนับระยะห่างระหว่างเม็ดจริง ๆ นะคะ โดยเฉพาะเมื่อไม่ได้รับประทานตรงเวลาอย่างเคร่งครัด
และแม้จะรับประทานผิดเวลาไปบ้าง แต่ถ้าไม่ทำให้ระยะห่างระหว่างเม็ดมีมากเกินไป ก็ไม่จำเป็นจะต้องปรับเวลารับประทานใหม่ทุกครั้งที่เกิดปัญหา แต่ควรรับประทานตามเวลาที่กำหนดไว้เหมือนเดิม เพื่อลดความสับสนที่อาจทำให้ใช้ผิด
…
อย่างไรก็ตาม การใช้ยาคุมไม่ตรงเวลา แม้จะไม่มากเกินเวลาที่ยืดหยุ่นให้ แต่ก็อาจลดประสิทธิภาพของยาคุมได้ค่ะ โดยมีการสรุปใน Trussell J. Contraceptive Technology, 2018. ไว้ว่า การรับประทานยาคุมรายเดือนอย่างสมบูรณ์แบบ (Perfect use) มีโอกาสตั้งครรภ์เพียงแค่ 0.3% ในขณะที่การใช้โดยทั่ว ๆ ไปอย่างไม่เคร่งครัด (Typical use) อาจทำให้โอกาสตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นเป็น 7%
อีกทั้ง ความแปรปรวนของฮอร์โมน ที่เกิดจากการรับประทานยาคุมไม่ตรงเวลา ก็อาจทำให้มีเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ง่าย
ดังนั้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ และลดปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอย จึงควรรับประทานยาคุมให้ถูกต้อง, เหมาะสม และตรงเวลาสม่ำเสมอนะคะ
…
เอกสารอ้างอิง
- FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraceptive. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, 2019. (Amended November 2020)
- FSRH Guideline: Progestogen-only Pills. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, August 2022. (Amended October 2022)
- U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use,3rd edition. World Health Organization, 2016.
- Trussell J, Aiken ARA, Mickes E, Guthrie K. Efficacy, Safety, and Personal Considerations. In: Contraceptive Technology, 21st ed, Hatcher RA, Nelson AL, Trussell J, et al (Eds), Ayer Company Publishers, Inc., New York 2018.