เมื่อเริ่มใช้ยาคุมรายเดือนแผงแรก จะมีผลป้องกันตั้งแต่เม็ดแรกที่รับประทานเลยไหม หรือต้องรอนานกี่วันจึงจะมีเพศสัมพันธ์แบบหลั่งในได้
…
ยาคุมรายเดือนส่วนใหญ่จะใช้การยับยั้งการตกไข่เป็นกลไกหลักเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ค่ะ แต่ก็มีบางยี่ห้อที่ตัวยาฮอร์โมนมีประสิทธิภาพไม่สูงนักที่จะยับยั้งไข่ตก จึงหวังผลในการเปลี่ยนแปลงมูกที่ปากมดลูกให้เหนียวข้น เพื่อขัดขวางการเคลื่อนผ่านของอสุจิ ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงเยื่อบุโพรงมดลูก ไม่ให้อสุจิที่อาจผ่านเข้าไปผสมกับไข่ได้ มาฝังตัวแล้วเกิดเป็นการตั้งครรภ์
…
การใช้โดยทั่วไป นั่นคือ สำหรับหญิงที่มีประจำเดือนมาแล้ว และไม่ได้มีผลคุมกำเนิดจากวิธีใด ๆ อยู่ หากเริ่มใช้ยาคุมแผงแรก โดยรับประทานเม็ดยาฮอร์โมนภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ก็สามารถยับยั้งไข่ที่จะตกในรอบเดือนนั้นได้เลยเมื่อใช้ให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ จึงถือว่ามีผลคุมกำเนิดได้ทันทีนะคะ
ซึ่งยาคุมรายเดือนแบบ 21 เม็ด และยาคุมแบบ 28 เม็ดส่วนใหญ่ ก็เริ่มต้นด้วยเม็ดยาฮอร์โมนเป็นเม็ดแรกของแผงอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นที่เข้าใจกันว่า เมื่อเริ่มใช้ยาคุมแผงแรกภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน จะถือว่ายาคุมมีผลป้องกันตั้งแต่เม็ดแรกนั่นเอง
…
แต่ถ้าเริ่มใช้เม็ดยาฮอร์โมนของยาคุมแผงแรก ไม่ทัน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน หรือแม้จะเริ่มทันเวลา หากรับประทานไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสัปดาห์แรกที่ใช้ (ซึ่งยาคุมแต่ละยี่ห้อมีความยืดหยุ่นในการขาดยาแตกต่างกัน) ก็อาจยับยั้งไข่ที่กำลังจะตกไม่ได้ จึงควรงดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันครบ 7 วันค่ะ
ยกเว้นยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวรูปแบบที่ไม่มีเม็ดยาหลอก เช่น “เอ็กซ์ลูตอน” (Exluton), “เดลิต้อน” (Dailyton) และ “ซีราเซท” (Cerazette) ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงมูกที่ปากมดลูกให้เหนียวข้น เป็นกลไกหลักในการป้องกันการตั้งครรภ์ หากเริ่มใช้ยาคุมแผงแรกไม่ทัน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ก็ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ไปอีก 2 วัน หรือเท่ากับ 48 ชั่วโมงนับจากเวลาที่เริ่มใช้ยาคุม
เพื่อให้มั่นใจว่ามูกที่ปากมดลูกจะมีปริมาตรเพิ่มขึ้นและมีความหนืดเพียงพอที่จะคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว และเนื่องจากผลคุมกำเนิดที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงมูกที่ปากมดลูกมีอายุสั้น จึงต้องรับประทานให้ตรงเวลาอย่างเคร่งครัด ยาคุมจึงจะมีผลป้องกันได้ต่อเนื่องนะคะ
…
อย่างไรก็ตาม สำหรับยาคุมที่ใช้การยับยั้งไข่ตกเป็นกลไกหลักในการป้องกันการตั้งครรภ์ แต่มีรูปแบบการใช้แตกต่างไปจากยาคุมรายเดือนทั่ว ๆ ไป หรือระบุวิธีใช้ที่เฉพาะเจาะจง ยกตัวอย่างเช่น “ไมโครไกนอน 30 ทว.” (Microgynon 30 ED), “ไคลรา” (Qlaira) และ “สลินดา” (Slinda) จะมีคำแนะนำดังนี้ค่ะ
…
“ไมโครไกนอน 30 ทว.” ซึ่งผู้ผลิตแนะนำให้เริ่มรับประทานเม็ดยาที่อยู่ในแถบสีแดงก่อน โดยเลือกเม็ดยาที่ระบุวันในสัปดาห์ตรงกับวันที่ใช้จริง อาจทำให้ผู้ใช้บางรายเริ่มต้นด้วยเม็ดยาหลอก แทนที่จะเป็นเม็ดยาฮอร์โมนเหมือนยี่ห้ออื่น ๆ
จึงควรพิจารณาว่าวันที่จะได้ใช้เม็ดยาฮอร์โมนเม็ดแรกของแผง ซึ่งตรงกับวันเสาร์ ยังอยู่ในช่วง 5 วันแรกของการมีประจำเดือนหรือไม่ หากใช่ ก็ไม่มีปัญหาค่ะ ถือว่ามีผลคุมกำเนิดได้ทันทีเช่นกัน
แต่ถ้าไม่ได้อยู่ภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ก็จะต้องงดมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้ง จนกว่าจะได้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนติดต่อกันจนครบ 7 วันก่อนนะคะ
ซึ่งนับจากวันเสาร์ที่ได้รับประทานเม็ดยาฮอร์โมนเม็ดแรกของแผง ถ้าใช้ต่อเนื่องกันทุกวัน ก็จะครบ 7 วันเมื่อถึงเวลารับประทานยาคุมในวันเสาร์ถัดมาค่ะ
…
สำหรับ “ไคลรา” ผู้ผลิตแนะนำให้เริ่มรับประทานยาคุมแผงแรกในวันแรกที่มีประจำเดือน จึงจะมีผลป้องกันทันทีที่เริ่มใช้
แต่ถ้าใช้ไม่ทันวันแรกที่มีประจำเดือน ก็จะต้องงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันร่วมด้วย จนกว่าจะได้รับประทานยาคุมติดต่อกันจนครบ 9 วันก่อน
เนื่องจาก 2 เม็ดแรกในแผงของ “ไคลรา” จะมีเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่วนเม็ดยาฮอร์โมนที่มีเอสโตรเจนรวมกับโปรเจสติน จะเริ่มจากเม็ดที่ 3 เป็นต้นไป การใช้เม็ดยาฮอร์โมนรวมให้ครบ 7 วันจึงต้องเริ่มนับจากเม็ดที่ 3 ไปหาเม็ดที่ 9 นั่นเอง
…
ส่วน “สลินดา” เนื่องจากเป็นยาคุมฮอร์โมนเดี่ยวรูปแบบใหม่ล่าสุด ซึ่งแนวทางการใช้ยาคุมที่แนะนำโดยหน่วยงานหรือสถาบันต่าง ๆ ยังไม่มีการระบุไว้ จึงต้องใช้คำแนะนำจากผู้ผลิตเป็นแหล่งอ้างอิงนะคะ
โดยผู้ผลิต “สลินดา” แนะนำให้เริ่มรับประทานยาคุมแผงแรกในวันแรกของการมีประจำเดือน จึงจะถือว่ามีผลป้องกันได้ทันที
แต่ถ้าเริ่มใช้ยาคุมแผงแรกหลังจากนั้น ก็จะต้องงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน ไปจนกว่าจะได้ใช้ยาคุมติดต่อกันจนครบ 7 วันก่อนค่ะ
…
เอกสารอ้างอิง
- Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
- U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2016.
- FSRH Guideline: Combined Hormonal Contraceptive. Faculty of Sexual & Reproductive Healthcare, 2019. (Amended November 2020)
- FSRH CEU Guidance: Progestogen-only Pills, 2015. (Updated April 2019)
- เอกสารกำกับยา Slinda®
- เอกสารกำกับยา Qlaira®