ซินโฟเนีย (Synfonia)

ซินโฟเนีย

                ยาคุมรายเดือน ยี่ห้อ ซินโฟเนีย (Synfonia) นำเข้าโดยบริษัทเอ็กเซลทิส ประเทศไทย จำกัด (Exeltis Thailand Co.,Ltd.) ราคาประมาณ 350 – 390 บาท มีจุดเด่นในเรื่องของการลดสิว, ต้านการบวมน้ำ และรักษากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน

                ในแผงยาคุมซินโฟเนียจะมีเม็ดยาเคลือบฟิล์ม (Film-coated tablet) รวม 28 เม็ด โดยแบ่งเป็นเม็ดยาฮอร์โมนที่มีสีชมพูจำนวน 24 เม็ด และเม็ดยาหลอกที่มีสีขาวอีก 4 เม็ด

ในแผงของซินโฟเนีย จะมีเม็ดยาฮอร์โมน (สีชมพู) 24 เม็ด และเม็ดยาหลอก (สีขาว) 4 เม็ด

                เม็ดยาฮอร์โมนแต่ละเม็ดจะมีตัวยาเหมือนกัน นั่นคือ มีฮอร์โมนเอสโตรเจนชื่อว่าเอทธินิลเอสตราไดออล (Ethinylestradiol) 0.02 มิลลิกรัม รวมกับฮอร์โมนโปรเจสตินชื่อว่าดรอสไพรีโนน (Drospirenone) 3 มิลลิกรัม

                ส่วนเม็ดยาหลอกไม่ได้มีตัวยาสำคัญใด ๆ

                อาการคลื่นไส้, อาเจียน, ปวดศีรษะ, บวมน้ำ และการเกิดฝ้า เป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่เนื่องจากซินโฟเนียเป็นยาคุมที่มีปริมาณเอทธินิลเอสตราไดออลต่ำมาก (Ultra low dose pills) ผู้ใช้จึงพบผลข้างเคียงดังกล่าวได้น้อย

                อีกทั้งดรอสไพรีโนนก็ยังเป็นโปรเจสตินที่มีผลต้านสิวและต้านการบวมน้ำอีกด้วย

                นอกจากนี้ การที่มีช่วงปลอดฮอร์โมนสั้น ๆ ทำให้ระดับฮอร์โมนของผู้ใช้ไม่แปรปรวนมาก จึงช่วยลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual syndrome; PMS) เช่น อารมณ์แปรปรวน, หงุดหงิด, ซึมเศร้า, เครียด, ปวดศีรษะ, ปวดประจำเดือน หรือเจ็บคัดตึงเต้านม

                อย่างไรก็ตาม การใช้ยาคุมกำเนิดอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงได้นะคะ โดยพบการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดจากการใช้ยาคุมสูตรที่มีเอทธินิลเอสตราไดออลรวมกับดรอสไพรีโนน ได้ราว 9 – 12 ราย จากผู้ใช้ 10,000 คนต่อปี และอาจเพิ่มสูงขึ้นอีกหลายเท่าหากนำมาใช้อย่างไม่เหมาะสม หรือผู้ใช้มีความเสี่ยงอื่น ๆ ของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดร่วมด้วย

                เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว รวมถึงการเกิดมะเร็งบางชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศ หรือการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง/โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จึงควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนใช้ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีการรับประทานยา/สมุนไพรใด ๆ อยู่

                ในกรณีที่หาซื้อซินโฟเนียไม่ได้ สามารถใช้ ยาส (Yaz) หรือ เฮอร์ซ (Herz) ซึ่งเป็นยาคุมสูตรเดียวกันแทนได้ค่ะ

                แนะนำให้เริ่มรับประทานยาคุมแผงแรกภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ทั้งเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้ไม่ได้มีการตั้งครรภ์อยู่ และเพื่อให้ยาคุมสามารถยับยั้งการตกไข่ในรอบเดือนนั้นได้เลย ซึ่งจะถือว่ามีผลคุมกำเนิดได้ทันทีที่เริ่มใช้

                อย่างไรก็ตาม หากไม่มีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ ก็สามารถเริ่มใช้ยาคุมได้โดยไม่ต้องรอให้ประจำเดือนมาก่อนนะคะ แต่จะต้องรับประทานซินโฟเนียติดต่อกันให้ครบ 7 วันก่อนจึงจะเริ่มมีผลคุมกำเนิดได้ ในระหว่างนั้น หากไม่มีผลป้องกันจากวิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ อยู่ ก็ควรงดมีเพศสัมพันธ์ หรือให้ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยค่ะ

                ควรรับประทานยาคุมรายเดือนในเวลาก่อนนอนตอนกลางคืน เพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา และช่วยลดอาการคลื่นไส้/อาเจียนที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ซึ่งผู้ใช้ยังไม่ชินกับผลข้างเคียงดังกล่าว

                แต่ก็สามารถเลือกรับประทานในเวลาอื่น ๆ ได้ตามความสะดวกของผู้ใช้แต่ละรายนะคะ ที่สำคัญก็คือจะต้องรับประทานให้ตรงเวลาสม่ำเสมอ เพราะหากรับประทานไม่ตรงเวลาหรือลืมรับประทานยา อาจทำให้ระดับฮอร์โมนแปรปรวน จนเกิดปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยได้ง่าย หรือลดประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์

                ในแผงยาคุมซินโฟเนียทั้ง 2 ด้านจะมีการระบุลำดับการใช้ไว้ต่างกัน ซึ่งอาจเลือกใช้แบบใดแบบหนึ่ง หรือใช้ร่วมกันทั้ง 2 แบบก็ได้

                สำหรับผู้ที่เคยชินกับการรับประทานตามลำดับตัวเลข ก็ให้เริ่มรับประทานจากหมายเลข 1 แล้วใช้ต่อวันละเม็ดตามลำดับไปจนถึงหมายเลข 28

การใช้ยาคุมซินโฟเนียเรียงตามลำดับ 1 - 28

                ซึ่งประจำเดือนของผู้ใช้มักจะมาประมาณเม็ดที่ 27 หรือ 28 ของแผงค่ะ

                เมื่อหมดแผงเดิมแล้วก็ให้เริ่มแผงใหม่ในวันถัดมาได้เลย ไม่ต้องรอให้ประจำเดือนหายดีก่อนนะคะ

                อย่างไรก็ตาม แม้การรับประทานตามลำดับตัวเลขจะเป็นวิธีที่ง่าย แต่ก็เสี่ยงต่อการรับประทานซ้ำซ้อนเกินขนาดหรือใช้ไม่ต่อเนื่องกันทุกวัน

                การรับประทานตามลำดับตัวย่อของวันในสัปดาห์ ซึ่งง่ายต่อการตรวจสอบประจำวัน จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หรือนำมาใช้ร่วมกับวิธีแรกค่ะ

                โดยเลือกแถบสติกเกอร์สำหรับวันที่เริ่มรับประทานยาวันแรก มาติดไว้ในส่วนที่ระบุว่า “สำหรับติดสติกเกอร์/Place sticker here”

                ยกตัวอย่างเช่น หากวันที่จะเริ่มรับประทานยาคุมแผงนี้ตรงกับวันศุกร์ ก็ให้เลือกสติกเกอร์ที่ขึ้นต้นด้วย “ศ. Fr” (ซึ่งย่อมาจาก วันศุกร์/Friday) มาติดไว้ที่แผงยา

                แล้วก็เริ่มรับประทานยาคุมจากจุดเริ่มต้น (Start) และใช้ต่อวันละเม็ดไปตามลำดับลูกศร ซึ่งผู้ใช้ควรตรวจสอบเทียบกับตัวย่อของวันที่ระบุไว้ในแถบสติกเกอร์ ว่าตรงกับวันที่รับประทานจริงหรือไม่ด้วยนะคะ

การใช้ยาคุมซินโฟเนียเรียงตามวันที่ระบุในแถบสติกเกอร์

                ประจำเดือนของผู้ใช้มักจะมาในวันที่รับประทานเม็ดยาสีขาว 1 – 2 เม็ดสุดท้ายของแผง ซึ่งเมื่อรับประทานหมดแผงเดิมแล้ว ก็ให้เริ่มแผงใหม่ในวันถัดมาได้เลยค่ะ

                หากลืมรับประทานเม็ดยาสีขาว ซึ่งเป็นเม็ดยาหลอกของซินโฟเนีย ให้แกะเม็ดที่ลืมทิ้งไป แล้วใช้เม็ดที่เหลือตามปกติ สามารถต่อยาคุมแผงใหม่ได้ตามกำหนด โดยไม่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด

                แต่ในกรณีที่ลืมรับประทานเม็ดยาสีชมพู ซึ่งเป็นเม็ดยาฮอร์โมนของซินโฟเนีย ให้รับประทานเม็ดที่ลืมทันทีที่นึกได้ 1 เม็ด แล้วรอรับประทานยาคุมในเวลาที่เคยใช้ประจำอีก 1 เม็ด (หรือรับประทานทั้ง 2 เม็ดนั้นพร้อมกันถ้าถึงเวลารับประทานยาคุมประจำวันแล้ว) จากนั้นก็ใช้ต่อวันละเม็ดเหมือนเดิม

                ไม่ว่าจะลืมแค่วันเดียว หรือลืมต่อเนื่องกันหลายวัน ในวันที่นึกขึ้นได้ก็จะรับประทานเพิ่มแค่ 1 เม็ดเพื่อทดแทนยาคุมที่ลืมใช้ ส่วนวันต่อ ๆ ไปก็ให้รับประทานยาคุมวันละเม็ดตามปกติ

                หากเริ่มใช้ยาคุมแผงดังกล่าวถูกต้องและมีผลคุมกำเนิดขึ้นแล้ว ถ้าลืมเม็ดยาสีชมพูไม่ถึง 48 ชั่วโมง (นับจากเวลาที่ควรต้องใช้ ไปหาเวลาที่ได้รับประทานจริง) ยังถือว่ามีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องนะคะ

                แต่ถ้าลืมรับประทานเม็ดยาสีชมพูตั้งแต่ 48 ชั่วโมงขึ้นไป ก็จะต้องงดมีเพศสัมพันธ์ หรือต้องใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย ไปจนกว่าจะได้รับประทานเม็ดยาสีชมพูติดต่อกันครบ 7 วันก่อน

                และควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันทีที่ทำได้ ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หากลืมรับประทานยาคุมในช่วงสัปดาห์แรกของแผง และมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วโดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย

                หรือต่อแผงใหม่หลังจากที่ใช้เม็ดยาสีชมพูหมด โดยไม่ต้องรับประทานเม็ดยาสีขาวในแผงเดิม หากเหลือเม็ดยาสีชมพูให้ใช้ต่อไม่ถึง 7 วัน หรือมีประจำเดือนมาแล้ว

                การลืมรับประทานเม็ดยาสีชมพูติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะในช่วงท้าย ๆ ของแผง อาจทำให้ประจำเดือนมาก่อนกำหนด หรือในทางกลับกัน การต่อแผงใหม่โดยข้ามเม็ดยาสีขาวก็อาจทำให้ไม่มีประจำเดือนมาในรอบนี้ค่ะ