ยาคุมฉุกเฉินกินได้เดือนละกี่ครั้ง

ยาคุมฉุกเฉินกินได้เดือนละกี่ครั้ง

                ยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายในประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อโพสตินอร์, มาดอนน่า, แมรี่ พิงค์, แอปคาร์ นอร์แพก, เลดี้นอร์, แจนนี่ และ เอ-โพสน็อกซ์ ซึ่งเป็นยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด หรือจะเป็นยี่ห้อเมเปิ้ล ฟอร์ท, แทนซี วัน และ มาดอนน่า วัน ซึ่งเป็นยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด ก็เป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาเลโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel emergency contraceptive pill: LNG-ECP) เหมือนกันทุกยี่ห้อนะคะ

                ย้อนกลับไปในอดีต มีรายงานเกี่ยวกับการตั้งครรภ์นอกมดลูก ในผู้ที่ป้องกันด้วยยาคุมฉุกเฉินไม่ได้ผล ทำให้เกิดความกังวลว่า การใช้ยาคุมฉุกเฉินอาจทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้มากขึ้น

                และเนื่องจากในช่วงนั้น ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาเลโวนอร์เจสเทรลที่มีจำหน่ายในประเทศไทย มีเฉพาะรูปแบบแผงละ 2 เม็ด กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดให้ต้องแสดงคำเตือนไว้ในฉลากและเอกสารกำกับยาว่า “ไม่ควรรับประทานมากกว่า 4 เม็ดต่อเดือน”

                ซึ่งหากปรับให้เป็นปัจจุบัน ที่ยาคุมฉุกเฉินมีทั้งแบบแผงละ 2 เม็ด และ 1 เม็ด ก็คือ “ไม่ควรรับประทานมากกว่า 2 แผงต่อเดือน” นั่นเอง

                อย่างไรก็ตาม การศึกษาในเวลาต่อมาชี้ว่า การตั้งครรภ์นอกมดลูกในกลุ่มที่ใช้ยาคุมฉุกเฉิน ไม่ได้สูงไปกว่าที่พบในกลุ่มประชากรทั่วไป

                ในปี พ.ศ.2543 กระทรวงสาธารณสุขจึงมีคำสั่งปรับปรุงแก้ไขการแสดงรายละเอียดในฉลากและเอกสารกำกับยาให้เหมาะสม โดยไม่ต้องแสดงข้อความดังกล่าวอีกต่อไป

                ยาคุมฉุกเฉินที่จำหน่ายในปัจจุบัน จึงไม่มีการระบุข้อควรระวังว่า “ไม่ควรรับประทานมากกว่า 2 แผงต่อเดือน” ไว้ในฉลากและเอกสารกำกับยาค่ะ

                ถึงกระนั้น ข้อควรระวังที่ว่า “ไม่ควรรับประทานมากกว่า 2 แผงต่อเดือน” ยังคงถูกบอกต่อเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ และในบางครั้ง ก็ผิดเพี้ยนไปเป็น “ตลอดชีวิต ไม่ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินเกิน 2 แผง” ด้วยความกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์นอกมดลูก, การมีบุตรยาก, ความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง หรือเกิดปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ ตามมาในอนาคต

                แม้จะช่วยให้เกิดความตระหนัก ว่าไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินเกินความจำเป็น

                แต่ในทางกลับกัน ก็อาจเปลี่ยนเป็นความตระหนก จนทำให้ผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องคุมกำเนิดฉุกเฉินบางราย เกิดความลังเลใจ จนพลาดโอกาสในการใช้ หรือมีการใช้ล่าช้ากว่าที่ควรเป็น และเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ไม่พร้อม

                จากประเด็นที่เป็นข้อสงสัยหรือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน องค์การอนามัยโลกจึงได้มีคำชี้แจง1 ว่ายาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล…

  1. ไม่เพิ่มความเสี่ยงของการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  2. ไม่เพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Venous thromboembolism: VTE)
  3. ไม่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่าง ๆ
  4. ไม่ได้ทำให้มีบุตรยาก
  5. ไม่พบความเสี่ยงร้ายแรง แม้มีการใช้เกินขนาด หรือใช้ซ้ำมากกว่า 1 ครั้งในรอบเดือนเดียวกัน
  6. ไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือถาวร
  7. ไม่ทำให้แท้งบุตร และไม่พบความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์
  8. สามารถใช้ในระหว่างที่ให้นมบุตรได้

                ดังนั้น หากมีความจำเป็นที่จะต้องคุมกำเนิดฉุกเฉิน เช่น ถูกข่มขืน, ถุงยางฉีกขาด หรือลืมรับประทานยาคุมรายเดือนติดต่อกันหลายวัน ก็สามารถรับประทานยาคุมฉุกเฉินเพื่อลดความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้นะคะ

                และแม้ว่าจะเคยใช้ไปแล้วในรอบเดือนเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเป็นครั้งหนึ่งหรือมากกว่าก็ตาม หากจำเป็นก็ยังสามารถรับประทานซ้ำได้อีก2,3ค่ะ

                แต่ยาคุมฉุกเฉินไม่ใช่วิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง จึงต้องทบทวนเพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม หากเกิดเหตุฉุกเฉินอยู่บ่อยครั้ง

                เช่น ตรวจสอบคุณภาพ, การเลือกขนาด, การเก็บรักษา และวิธีการใช้ถุงยางอนามัย เพื่อลดปัญหาฉีกขาดเมื่อใช้งาน

                หรือเปลี่ยนจากการรับประทานยาคุมรายเดือน ไปเป็นการฉีดยาคุมหรือฝังยาคุม ซึ่งจะมีผลป้องกันได้นาน จึงไม่ต้องบริหารยาบ่อย ๆ เพื่อลดความผิดพลาดจากการลืมรับประทาน

                การจำกัดจำนวนการใช้ยาคุมฉุกเฉินไม่เกิน 2 แผงต่อเดือน ที่เคยมีมาในอดีต ไม่ใช่ “โควตา” ที่จะสามารถใช้ยาคุมฉุกเฉินแทนวิธีคุมกำเนิดมาตรฐานได้อย่างปลอดภัยนะคะ

                และการยกเลิกคำเตือนดังกล่าวในปัจจุบัน ก็ไม่ใช่การสนับสนุนให้ใช้ยาคุมฉุกเฉินได้โดยไม่มีข้อจำกัด

                เพราะแม้ว่าจะปลอดภัย ในแง่ที่ว่ายาคุมฉุกเฉินไม่ได้ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงหรือถาวร แต่ก็ไม่ปลอดภัย ในแง่ที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์เพราะป้องกันล้มเหลว เนื่องจากประสิทธิภาพไม่สูงเหมือนวิธีคุมกำเนิดมาตรฐาน

                นั่นหมายถึง ไม่ว่าจะมีการจำกัดจำนวนหรือไม่ ข้อควรตระหนักที่ตรงกัน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ก็คือ “ยาคุมฉุกเฉิน…ควรใช้เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น” ค่ะ

                การนับวันปลอดภัย หรือ หน้า 7 – หลัง 7, การหลั่งนอก รวมถึงการนำยาคุมฉุกเฉินมาใช้แทนวิธีคุมกำเนิดปกติ ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เนื่องจากประสิทธิภาพต่ำกว่าวิธีคุมกำเนิดมาตรฐาน และมีโอกาสผิดพลาดสูง

                ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์ไม่บ่อย หรือไม่ต้องการจะใช้ยาคุมรายเดือนหรือฮอร์โมนคุมกำเนิดอื่น ๆ แนะนำให้ป้องกันด้วยถุงยางอนามัยนะคะ เพราะถ้าใช้ถูกวิธี นอกจากจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีแล้ว ยังสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วยค่ะ

เอกสารอ้างอิง

  1. Fact sheet on the safety of levonorgestrel-alone emergency contraceptive pills (‎LNG ECPs)‎. World Health Organization, 2010.
  2. American College of Obstetricians and Gynecologists. ACOG Practice Bulletin No. 152: Emergency Contraception. Obstet Gynecol; 2015, reaffirmed 2019.
  3. FSRH Guideline Emergency Contraception, March 2017 (Amended December 2020).