แม่ให้นมใช้ยาคุมฉุกเฉินได้ไหม

                ในระหว่างที่ยังให้นมอยู่ ถ้ามีความจำเป็นต้องคุมกำเนิดฉุกเฉิน สามารถรับประทานยาคุมฉุกเฉินได้หรือไม่ จะเลือกแบบไหน รับประทานอย่างไร และควรงดให้นมหลังใช้ด้วยหรือเปล่า

1. ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาเลโวนอร์เจสเทรล (LNG-EC)

                ยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย บางยี่ห้อจะเป็นยาคุมแบบ 1 เม็ด ตัวอย่างเช่น เมเปิ้ล ฟอร์ท (Maple forte), แทนซี วัน (Tansy one), มาดอนน่า วัน (Madonna one), รีโวค-1.5 (Revoke-1.5) และ โพสต์ 1 ฟอร์ต (Post 1 forte)

                หรือบางยี่ห้อก็เป็นยาคุมแบบ 2 เม็ด ตัวอย่างเช่น โพสตินอร์ (Postinor), มาดอนน่า (Madonna), แมรี่ พิงค์ (Mary pink), แอปคาร์ นอร์แพก (ABCA Norpak), เลดี้นอร์ (Ladynore), แจนนี่ (Janny) และ เอ-โพสน็อกซ์ (A-Posnox)

                ทุก ๆ ยี่ห้อที่กล่าวมา ถือเป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ซึ่งมีตัวยาเลโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) เพียงอย่างเดียว โดยยาคุมแบบ 1 เม็ด จะมีตัวยาเลโวนอร์เจสเทรล 1.5 มิลลิกรัม ส่วนยาคุมแบบ 2 เม็ดจะมีตัวยาเลโวนอร์เจสเทรลเม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม หรือเท่ากับแผงละ 1.5 มิลลิกรัมเหมือนกันนั่นเอง

                แม่ให้นมใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดนี้ได้ค่ะ และสามารถให้นมได้ตามปกติหลังรับประทาน เพราะแม้ว่าตัวยาเลโวนอร์เจสเทรลจะถูกหลั่งออกมาทางน้ำนม แต่ก็ในปริมาณที่น้อยมาก และยังไม่พบผลเสียใด ๆ ต่อทารก2-4,6,8

                หรืออาจรับประทานทันทีหลังให้นมลูกเสร็จ แล้วงดให้นมนาน 8 ชั่วโมงหลังรับประทาน เพื่อลดปริมาณยาที่ทารกอาจได้รับจากน้ำนมแม่ ตามคำแนะนำของบางบริษัทยาก็ได้เช่นกัน3

                ซึ่งวิธีใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาเลโวนอร์เจสเทรลของแม่ให้นม ก็เหมือนกับหญิงทั่วไปนะคะ นั่นคือ รับประทานครบขนาด 1.5 มิลลิกรัมในครั้งเดียวได้เลย1,3,5,7 ดังนั้น ถ้าใช้ยี่ห้อที่มี 1 เม็ด ก็รับประทานเม็ดเดียวครั้งเดียว หรือถ้าใช้ยี่ห้อที่มี 2 เม็ด ก็รับประทาน 2 เม็ดพร้อมกันครั้งเดียว

                โดยจะต้องรับประทานทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือให้เร็วที่สุดที่ทำได้ภายใน 72 ชั่วโมง3 หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมง1,5,7 หลังมีเพศสัมพันธ์

                และถ้าอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมง1,5 หรือภายใน 3 ชั่วโมง3,7 หลังรับประทาน ก็จะต้องรับประทานซ้ำ เพื่อทดแทนยาที่อาเจียนออกมาค่ะ

2. ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยายูลิพริสทอล อะซิเตท (UPA-EC)

                ยาคุมชนิดนี้ไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยนะคะ ส่วนที่ใช้ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น Ella® (ชื่อการค้าที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกา) หรือ EllaOne® (ชื่อการค้าที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป) เป็นยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด ซึ่งมีตัวยายูลิพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal acetate) อยู่ 30 มิลลิกรัม

                โดยให้รับประทานเม็ดเดียวครั้งเดียวทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ และถ้าอาเจียนภายใน 3 ชั่วโมงหลังรับประทาน ก็จะต้องรับประทานซ้ำ เพื่อทดแทนยาที่อาเจียนออกมา1,3,5,7

                ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยายูลิพริสทอล อะซิเตท สามารถใช้ในกลุ่มแม่ให้นมได้เช่นกันค่ะ แม้จะพบตัวยาสำคัญปริมาณเล็กน้อยในน้ำนม แต่ยังไม่มีข้อมูลว่าเกิดผลกระทบต่อทารกหรือการผลิตน้ำนม

                เดิมนั้น แนวทางของสหรัฐอเมริกาฉบับปี ค.ศ.2016 แนะนำว่าควรงดให้นมนาน 24 ชั่วโมงหลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดนี้ แต่ฉบับปี ค.ศ.2024 ไม่พบข้อความดังกล่าวอยู่แล้ว และไม่ระบุข้อควรปฏิบัติเพิ่มเติมใด ๆ6

                แต่หากยึดตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก รวมถึงแนวทางของสหราชอาณาจักร จะแนะนำการงดให้นมนาน 1 สัปดาห์หลังรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยายูลิพริสทอล อะซิเตท โดยควรบีบน้ำนมทิ้งเรื่อย ๆ เพื่อกระตุ้นไม่ให้น้ำนมหยุดไหล3,4,8

3. ยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนรวม (Combined EC หรือ Yuzpe regimen)

                Preven® เป็นตัวอย่างของยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งเคยมีจำหน่ายอยู่ในบางประเทศ โดยเป็นยาคุมแบบ 4 เม็ด ซึ่งมีตัวยาเอทธินิลเอสตราไดออล (Ethinyl estradiol) เม็ดละ 0.05 มิลลิกรัม รวมกับเลโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) อีกเม็ดละ 0.25 มิลลิกรัม โดยรับประทานครั้งละ 2 เม็ด รวม 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 12 ชั่วโมง

                ควรรับประทานให้เร็วที่สุดที่ทำได้ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์1,5,7 และถ้าอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมง1,5 หรือภายใน 3 ชั่วโมง7 หลังรับประทาน ก็จะต้องรับประทานซ้ำ เพื่อทดแทนยาที่อาเจียนออกมา

                ยาคุมฉุกเฉินชนิดฮอร์โมนรวมไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยนะคะ จึงต้องนำเอายาคุมรายเดือนมาปรับใช้ เพื่อให้ได้ตัวยาเอทธินิลเอสตราไดออลครั้งละ 0.1 มิลลิกรัม และเลโวนอร์เจสเทรลครั้งละ 0.5 มิลลิกรัม1,5,7 เช่น รับประทานเม็ดฮอร์โมนของหรือเอทธินิลเอสตราไดออลครั้งละ 0.1 มิลลิกรัม และนอร์เจสเทรลครั้งละ 1 มิลลิกรัม1) แล้วรับประทาน 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง

                ยกตัวอย่างเช่น รับประทานยาคุมโลล่า (Lola) ครั้งละ 5 เม็ด รวม 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง

                หรือ รับประทานยาคุมดิออร์รา 21 (Diora 21), เลอร์เมร่า (Lermera), นอร์เกสเต้ (Norgeste) หรือเม็ดฮอร์โมนของยาคุมแอนนา (Anna), ไมโครเลนิน 30 อีดี (Microlenyn 30 ED), ดิออร์รา 28 (Diora 28), อาร์เดน (R-den), โซฟี่ 28 (Sophie 28), ไมโครไกนอน 30 อีดี (Microgynon 30 ED) อย่างใดอย่างหนึ่ง ครั้งละ 4 เม็ด รวม 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง

                หรือ รับประทานเม็ดฮอร์โมนของยาคุมเจนนี่ เอฟ.เอ็ม.พี. (Jeny F.M.P.) หรือมาร์นอน (Marnon) ครั้งละ 2 เม็ด รวม 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง

                แม้จะสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องงดให้นมหลังรับประทานยา4,6  แต่การคุมกำเนิดฉุกเฉินแบบฮอร์โมนรวมก็ไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เนื่องด้วยประสิทธิภาพที่ด้อยกว่า และมีผลข้างเคียงมากกว่า เมื่อเทียบกับยาคุมฉุกเฉินชนิดอื่น อีกทั้งยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาเลโวนอร์เจสเทรลก็หาซื้อได้ง่าย และมีราคาไม่แพงค่ะ

เอกสารอ้างอิง

  1. Family planning: A Global Handbook for Providers, 2022 edition.
  2. FSRH Guideline: Contraception After Pregnancy, January 2017. (Amended October 2020)
  3. FSRH Guidance: Emergency Contraception, 2017. (Amended July 2023)
  4. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use. World Health Organization, 2015.
  5. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use, 3rd edition. World Health Organization, 2016.
  6. U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 2024.
  7. U.S. Selected Practice Recommendations for Contraceptive Use. Centers for Disease Control and Prevention, 2024.
  8. UK Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use, 2016. (Amended September 2019)