กินยาคุมฉุกเฉินพร้อมกัน 2 เม็ดเลยได้ไหม

กินยาคุมฉุกเฉินพร้อมกัน 2 เม็ดเลยได้ไหม

                ยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด ที่จำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่ โพสตินอร์, มาดอนน่า, แมรี่พิงค์, นอร์แพก, เลดี้นอร์, แจนนี่ และ เอ-โพสน็อกซ์ จะระบุวิธีการใช้ในเอกสารกำกับยาว่า…

รับประทานยา 1 เม็ด ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ไม่นานเกินกว่า 72 ชั่วโมง ภายหลังจากมีเพศสัมพันธ์

และต้องรับประทานซ้ำอีก 1 เม็ดหลังจากรับประทานยาเม็ดแรกไปแล้ว 12 ชั่วโมง

                แต่ทำไมแพทย์หรือเภสัชกรบางคน จึงแนะนำให้รับประทานยาคุมฉุกเฉินพร้อมกันทีเดียว 2 เม็ดล่ะ? มันดีกว่าการแบ่งรับประทาน 2 ครั้งหรือเปล่า?? แล้วผลข้างเคียงจะมากขึ้นมั้ย???

                การรับประทานครั้งละ 0.75 มิลลิกรัม รวม 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมง ดังที่กล่าวไปข้างต้น เป็นวิธีดั้งเดิมในการใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาเลโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel emergency contraceptive pill: LNG-ECP) ค่ะ

                ส่วนวิธีการใหม่ ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน จะแนะนำให้รับประทานตัวยาเลโวนอร์เจสเทรล 1.5 มิลลิกรัมครั้งเดียว1-6 ซึ่งก็คือการใช้ยาคุมฉุกเฉินยี่ห้อที่มี 2 เม็ด (เม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม) อย่าง โพสตินอร์, มาดอนน่า, แมรี่พิงค์, นอร์แพก, เลดี้นอร์, แจนนี่ หรือ เอ-โพสน็อกซ์ แบบ 2 เม็ดพร้อมกันในครั้งเดียว

            หรือเท่ากับการใช้ยาคุมฉุกเฉินยี่ห้อที่มี 1 เม็ด (เม็ดละ 1.5 มิลลิกรัม) อย่าง เมเปิ้ลฟอร์ท , แทนซีวัน หรือ มาดอนน่าวัน แบบเม็ดเดียวครั้งเดียวนั่นเอง

                โดยจะต้องรับประทานให้เร็วที่สุด ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์1,4,5

                อย่างไรก็ตาม บางแนวทางได้ขยายกรอบเวลาให้มากขึ้นเพื่อลดการเสียโอกาส สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องคุมกำเนิดฉุกเฉิน แต่ใช้ไม่ทัน 72 ชั่วโมง โดยแนะนำให้รีบรับประทานทันทีที่ทำได้ ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์2,3,6 (แต่ยิ่งใช้ล่าช้า ประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินก็จะยิ่งลดลงนะคะ)

                ซึ่งการรับประทานยาคุมฉุกเฉินยี่ห้อที่มี 2 เม็ด แบบพร้อมกันในครั้งเดียว นอกจากจะสะดวกกว่าการแยกรับประทานเป็น 2 ครั้งแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะลืมรับประทานเม็ดที่สอง จนทำให้ใช้ไม่ครบขนาด หรือไม่ตรงเวลาอีกด้วยค่ะ

                และผลการศึกษาก็ชี้ว่าการรับประทานตามวิธีใหม่ มีประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่าการรับประทานตามวิธีดั้งเดิม7,8 หรือมีแนวโน้มที่จะป้องกันได้ดีกว่า9

                ในขณะที่โอกาสเกิดผลข้างเคียงไม่แตกต่างกัน8 หรืออาจพบอาการปวดศีรษะ7,9, คัดตึงเต้านม9 และประจำเดือนมามาก7,9 ได้บ่อยกว่าจากการรับประทานแบบครบขนาดในครั้งเดียว แต่ไม่มีอันตรายรุนแรง

                ดังนั้น หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาเลโวนอร์เจสเทรล ยี่ห้อที่มีแผงละ 2 เม็ด แนะนำให้รับประทานพร้อมกัน 2 เม็ดได้เลยนะคะ

                และควรรับประทานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้า ไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

                หรือหากต้องการแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้งตามวิธีดั้งเดิม ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ควรระวังการลืมใช้หรือการรับประทานเม็ดที่สองล่าช้า ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ไม่ได้ผลค่ะ

เอกสารอ้างอิง

  1. Emergency contraception. Practice Bulletin No. 152. American College of Obstetricians and Gynecologists. Obstet Gynecol 2015;126:e1–11.
  2. Curtis KM, Jatlaoui TC, Tepper NK, et al: U.S. selected practice recommendations for contraceptive use, 2016, MMWR Recomm Rep 65(RR–4):1–66, 2016.
  3. Selected Practice Recommendations forContraceptive Use, 3rd edition. Geneva: World Health Organization; 2016.
  4. Faculty for Sexual and Reproductive Health (FSRH) guideline: Emergency contraception. March 2017 (Amended December 2020).
  5. International Consortium for Emergency Contraception (ICEC); International Federation of Gynecology and Obstetrics (FIGO). Emergency Contraceptive Pills: Medical and Service Delivery Guidance, 4th ed.; International Consortium for Emergency Contraception: New York, NY, USA, 2018.
  6. Upadhya KK, AAP Committee on Adolescence. Emergency Contraception. Pediatrics. 2019; 144(6): e20193149.
  7. Shen J, Che Y, Showell E, Chen K, Cheng L. Interventions for emergency contraception. Cochrane Database Syst Rev. 2017 Aug 2;8(8):CD001324. 
  8. Leelakanok N, Methaneethorn J. A Systematic Review and Meta-analysis of the Adverse Effects of Levonorgestrel Emergency Oral Contraceptive. Clin Drug Investig. 2020 May;40(5):395-420.
  9. Shohel M, Rahman MM, Zaman A, Uddin MM, Al-Amin MM, Reza HM. A systematic review of effectiveness and safety of different regimens of levonorgestrel oral tablets for emergency contraception. BMC women’s health 2014;14:54.