ยาคุมแบบเม็ดเดียวกับสองเม็ด แบบไหนประสิทธิภาพดีกว่ากัน

ยาคุมแบบเม็ดเดียวกับสองเม็ด แบบไหนประสิทธิภาพดีกว่ากัน

                เวลาที่ใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบสองเม็ด มักมีปัญหาว่าลืมกินเม็ดที่สอง อยากแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนมากินยาคุมฉุกเฉินแบบเม็ดเดียว แต่ไม่แน่ใจว่าแบบไหนประสิทธิภาพดีกว่ากัน

                ยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ดที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยหลาย ๆ ยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น โพสตินอร์, มาดอนน่า, แมรี่ พิงค์, แอปคาร์ นอร์แพก, เลดี้นอร์, แจนนี่ หรือ เอ-โพสน็อกซ์ เป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาเลโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) โดยมีตัวยาสำคัญอยู่เม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม เมื่อรวมทั้งแผงที่มี 2 เม็ด ปริมาณยารวมทั้งแผงจึงเท่ากับ 1.5 มิลลิกรัมนั่นเองนะคะ

                วิธีใช้แบบดั้งเดิมก็คือ ให้รับประทาน 1 เม็ด ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ไม่นานเกินกว่า 72 ชั่วโมง ภายหลังจากมีเพศสัมพันธ์ แล้วรับประทานซ้ำอีก 1 เม็ดหลังจากรับประทานยาเม็ดแรกไปแล้ว 12 ชั่วโมง

                และต่อมา มีคำแนะนำเพิ่มเติมว่า หากใช้ไม่ทันภายใน 72 ชั่วโมง แต่ยังไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ ก็สามารถรับประทานยาคุมฉุกเฉินได้ค่ะ1-2 แต่ประสิทธิภาพอาจลดลงตามเวลาที่ผ่านไป

                แต่การรับประทานยาคุมฉุกเฉินตามวิธีดั้งเดิม มักพบปัญหาว่าผู้ใช้ลืมรับประทานยาคุมเม็ดที่สอง ทำให้ใช้ไม่ครบขนาด หรือรับประทานช้ากว่าเวลาที่แนะนำ

                เมื่อมีการศึกษาเพิ่มเติมจนพบว่า การรับประทานเลโวนอร์เจสเทรลครั้งเดียว ในขนาด 1.5 มิลลิกรัม มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดฉุกเฉินไม่ด้อยไปกว่าการใช้ตามวิธีดั้งเดิม อีกทั้งผลข้างเคียงที่อาจพบได้ก็ไม่แตกต่างกัน

                ปัจจุบัน หลาย ๆ แนวทางจึงแนะนำให้รับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาเลโวนอร์เจสเทรลครั้งเดียว ในขนาด 1.5 มิลลิกรัม โดยรับประทานทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์3-5 หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์1,2,6นะคะ

                ดังนั้น เพื่อป้องกันการลืมรับประทาน เมื่อใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบสองเม็ด เช่น โพสตินอร์, มาดอนน่า, แมรี่ พิงค์, แอปคาร์ นอร์แพก, เลดี้นอร์, แจนนี่ หรือ เอ-โพสน็อกซ์ ควรรับประทานทั้ง 2 เม็ดพร้อมกันในครั้งเดียว โดยรับประทานทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

                ส่วนยาคุมฉุกเฉินแบบเม็ดเดียวที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยหลาย ๆ ยี่ห้อ ไม่ว่าจะเป็น เมเปิ้ล ฟอร์ท, แทนซี วัน, มาดอนน่า วัน หรือ รีโวค-1.5 เป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาเลโวนอร์เจสเทรล (Levonorgestrel) ที่มีตัวยาสำคัญอยู่เม็ดละ 1.5 มิลลิกรัม

                การใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบเม็ดเดียว จึงให้รับประทานเม็ดเดียวครั้งเดียว โดยรับประทานทันที หรือเร็วที่สุดที่ทำได้ ภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ค่ะ

                จะเห็นได้ว่า ยาคุมฉุกเฉินที่มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแบบเม็ดเดียวหรือแบบสองเม็ด ก็มีตัวยาสำคัญเหมือนกัน โดยเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ การใช้ยาคุมแบบสองเม็ดก็เหมือนว่าเรามีเหรียญ 1 บาทจำนวน 2 เหรียญ ส่วนการใช้ยาคุมแบบเม็ดเดียวก็เหมือนว่าเรามีเหรียญ 2 บาทจำนวน 1 เหรียญ

เปรียบยาคุมแบบสองเม็ดเป็นเหรียญหนึ่งบาทสองเหรียญ ส่วนยาคุมแบบเม็ดเดียวก็คือเหรียญสองบาทเหรียญเดียว

                เมื่อนำไปซื้อสินค้าที่มีราคา 2 บาท การหยิบเหรียญ 1 บาทมาจ่ายพร้อมกัน 2 เหรียญ ก็ไม่ต่างไปจากการหยิบเหรียญ 2 บาทเหรียญเดียวมาจ่าย (หรือจะหยิบเหรียญ 1 บาทมาจ่าย 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เหรียญก็ได้เช่นกัน แต่ต้องจ่ายตรงเวลาจนครบ 2 บาท)

                ซึ่งบางคนอาจคิดว่า การหยิบเหรียญ 2 บาทเหรียญเดียว สะดวกกว่าการหยิบเหรียญ 1 บาท 2 เหรียญ ก็ถือเป็นความชอบส่วนบุคคลนะคะ เพราะที่สำคัญก็คือมูลค่าไม่แตกต่างกัน เปรียบได้กับการรับประทานยาคุมแบบเม็ดเดียวครั้งเดียว และการรับประทานยาคุมแบบสองเม็ดโดยรับประทาน 2 เม็ดพร้อมกัน ซึ่งทั้งสองวิธีก็ทำให้เราได้รับตัวยาเท่ากันในครั้งเดียว

                หรือถ้าในกระเป๋าสตางค์ของเรามีเหรียญ 1 บาทอยู่ 2 เหรียญ ก็ไม่จำเป็นจะต้องลำบากไปหาแลกเหรียญ 2 บาทมาจ่ายให้แม่ค้าก็ได้ เปรียบเสมือนว่าถ้าร้านยาใกล้บ้านมีเฉพาะยาคุมแบบสองเม็ด ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปหาซื้อยาคุมแบบเม็ดเดียวที่ร้านอื่นมาใช้ เพราะทำให้เสียเวลามากขึ้น ซึ่งยิ่งใช้ล่าช้า ประสิทธิภาพในการป้องกันฉุกเฉินก็ยิ่งลดลงค่ะ

เอกสารอ้างอิง

  1. Curtis KM, Jatlaoui TC, Tepper NK, et al: U.S. selected practice recommendations for contraceptive use, 2016, MMWR Recomm Rep 65(RR–4):1–66, 2016.
  2. Selected Practice Recommendations forContraceptive Use, 3rd edition. Geneva: World Health Organization; 2016.
  3. Emergency contraception. Practice Bulletin No. 152. American College of Obstetricians and Gynecologists. Obstet Gynecol 2015;126:e1–11.
  4. Faculty for Sexual and Reproductive Health (FSRH) guideline: Emergency contraception. March 2017 (Amended December 2020).
  5. International Consortium for Emergency Contraception (ICEC); International Federation of Gynecology and Obstetrics (FIGO). Emergency Contraceptive Pills: Medical and Service Delivery Guidance, 4th ed.; International Consortium for Emergency Contraception: New York, NY, USA, 2018.
  6. Upadhya KK, AAP Committee on Adolescence. Emergency Contraception. Pediatrics. 2019; 144(6): e20193149.